วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    โทร.สายด่วน 1460 / E- mail : wmsc.1460@gmail.com / http://water.rid.go.th/wmsc
*********************************
พื้นที่โครงการฯแม่ยม จ.แพร่ แล้งนี้แม้น้ำน้อย แต่ใช้หลักแบ่งรอบเวรส่งน้ำ ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง 
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดแพร่ ในเขตชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม แม้ปีนี้จะมีน้ำต้นทุนน้อยมาก แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันแบ่งปันน้ำเป็นรอบเวร ทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำทำการเกษตรได้เป็นอย่างมาก
นายเมธี วุฒิเจริญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรังปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2556/2557 ทางโครงการฯได้วางแผนการจัดสรรน้ำไว้สำหรับส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรของโครงการฯ คิดเป็นพื้นที่ตามเป้าหมายประมาณ 58,500 ไร่ โดยอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ดังนี้ น้ำจากระบบชลประทาน(ฝายแม่ยม) ประมาณ 17,500 ไร่ น้ำจากจุดสูบน้ำดอยเวียงผี ประมาณ 3,000 ไร่ น้ำจากจุดสูบน้ำแม่หล่าย ประมาณ 2,500 ไร่ น้ำจากจุดสูบน้ำแม่สาย ประมาณ 1,500 ไร่ น้ำจากจุดสูบน้ำอื่นๆ ประมาณ 7,500 ไร่ น้ำจากการใช้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ประมาณ 14,800 ไร่ และน้ำจากแหล่งน้ำขนาดเล็กอีกประมาณ 11,700 ไร่
ทั้งนี้ ในช่วงต้นฤดูแล้งปี 2556/2557 ที่ผ่านมา ทางโครงการฯได้ดำเนินการชี้แจงแผนการจัดสรรน้ำและกำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนในเขตชลประทานของโครงการฯ ให้ทราบถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ รวมทั้งแนวทางในการจัดสรรน้ำเป็นรอบเวรการส่งน้ำ เพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างทั่วถึงและไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำของภาคเกษตรกรรม ซึ่งจากการติดตามผลการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตลอดระยะเวลา 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีการเพาะปลูกพืชเกินแผนที่กำหนดไว้จาก 58,500 ไร่ เป็น 86,112 ไร่ แม้จะดูเกินแผนไปค่อนข้างมาก แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มเกษตรกร ที่มีการแบ่งปันการใช้น้ำเป็นรอบเวรและปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการใช้น้ำร่วมกันอย่างเคร่งครัด ทำให้การกระจายน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึงไม่ขาดแคลน
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ทำนาปรัง หากเก็บเกี่ยวข้าวรอบนี้เสร็จแล้ว ขอให้พักการเพาะปลูก งดทำนาปรังครั้งที่ 2 ต่อเนื่อง เนื่องจากมีน้ำไม่พอที่จะสนับสนุน เสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำค่อนข้างสูง รวมทั้ง ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งที่เหลือระยะเวลาอีกกว่า 2 เดือนข้างหน้านี้
*********************************
25  กุมภาพันธ์ 2557

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน


ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร.สายด่วน 1460 / E- mail : wmsc.1460@gmail.com / http://water.rid.go.th/wmsc
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ค่าความเค็มโรงสูบน้ำดิบสำแลเริ่มลดลงแล้ว หลังมีการผันน้ำจากแม่กลองลงมาเจือจาง
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดปัญหาความเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาในปีนี้เร็วกว่าปกติ จนค่าความเค็มที่วัดได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง นั้น
กรมชลประทาน และการประปานครหลวง ได้ดำเนินการรแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เป็นระยะๆ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเจือจางน้ำเค็มให้ได้มากที่สุด พร้อมกับผันน้ำส่วนหนึ่งจากแม่น้ำแม่กลองที่มีปริมาณมากเข้าคลองจรเข้สามพัน และคลองท่าสาร-บางปลา ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นได้เปิดรับน้ำเข้าคลองพระยาบันลือ และระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงไปเจือจางน้ำเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล ของการประปานครหลวงตลอดในช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง พบว่าค่าความเค็มที่วัดได้เริ่มลดลงแล้ว โดยเฉพาะบริเวณโรงสูบน้ำดิบสำแลของกระประปานครหลวง เช้าวันนี้(20 ก.พ. 57) วัดค่าความเค็มได้ 0.23 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่าความเค็มมาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับการนำน้ำดิบไปผลิตเป็นน้ำประปา จะต้องไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ยังคงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขอให้งดการทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้รวมถึงปริมาณน้ำสำรองที่มีอยู่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ฤดูแล้งยังเหลืออีกกว่า 2 เดือน จึงต้องช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมอย่างไม่ขาดแคลน อีกทั้ง ยังเป็นการแบ่งปันน้ำให้คนที่อยู่ด้านท้ายน้ำได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างทั่วถึงกันด้วย
*********************************
20  กุมภาพันธ์ 2557

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน


ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร.สายด่วน 1460 / E- mail : wmsc.1460@gmail.com / http://water.rid.go.th/wmsc
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
กรมชลฯระบายน้ำเพิ่ม รักษาระบบนิเวศน์ หลังน้ำเค็มรุกถึงสำแล กระทบต่อน้ำดิบผลิตประปา
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ในปีนี้ส่งผลกระทบเร็วกว่าปกติ ค่าความเค็มที่วัดได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา จนกระทบต่อการสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง ทำให้กรมชลประทานและการประปานครหลวงต้องร่วมมือกันในการวางแนวทางแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมาเจือจาง
ทั้งนี้ โดยปกติในหลายๆปีที่ผ่านมา การทำนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงมีน้ำส่วนเกินที่เหลือจากการทำนาปรังไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปสมทบกับน้ำที่ระบายลงมาเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ทำให้มีน้ำเพียงพอที่จะไล่น้ำเค็มให้เจือจางลงไปได้ แต่เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งปีนี้ พื้นที่เขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังเกินแผนไปแล้วกว่า 2 เท่า ทำให้เกษตกรใช้น้ำที่อยู่ในระบบอย่างเต็มศักยภาพ จนไม่เหลือน้ำส่วนเกินที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าทุกปี จนกระทบต่อการสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตคนเมืองหลวงกว่า 10 ล้านคน
กรมชลประทาน และการประปานครหลวง จึงได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เป็นระยะๆ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเจือจางน้ำเค็มให้ได้มากที่สุด พร้อมกับผันน้ำส่วนหนึ่งจากแม่น้ำแม่กลองที่มีปริมาณมากเข้าคลองจรเข้สามพัน และคลองท่าสาร-บางปลา ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะเปิดรับน้ำเข้าคลองพระยาบันลือ และระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท เพื่อให้น้ำไหลไปเจือจางน้ำเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล ของการประปานครหลวงต่อไป 
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกเสร็จแล้ว ขอให้งดการทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมอย่างไม่ขาดแคลน อีกทั้ง ยังเป็นการแบ่งปันน้ำให้คนที่อยู่ด้านท้ายน้ำได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างทั่วถึงกันด้วย
*********************************
18  กุมภาพันธ์ 2557

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน


ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร.สายด่วน 1460 / E- mail : wmsc.1460@gmail.com / http://water.rid.go.th/wmsc
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำใช้การไปแล้วเกือบร้อยละ 80 ขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำจริงจัง
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ล่าสุด(17 ก.พ. 57) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 12,330 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 5,634 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำทั้งหมด
สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,388 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,588  ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,047 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,197 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 388 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 345 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี  มีปริมาณน้ำ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 504 ล้านลูกบาศก์เมตร
                ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(17 ก.พ. 57) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,180 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนฯ อีกประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของแผนฯ
ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ  6 ก.พ. 57) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 8.94 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 176 ของแผนทั้งหมด(แผนกำหนดไว้ 5.09 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 8.65 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 182ของแผน(แผนกำหนดไว้ 4.74 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.29 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.35 ล้านไร่)
อนึ่ง ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ทำนาปรังในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการเพาะปลูกเกินแผนไปแล้วกว่า 2 เท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 202 ของแผนฯ ซึ่งกรมชลประทาน ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการปรับแผนการส่งน้ำเพิ่มมากขึ้น ด้วยการดึงน้ำที่สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมาใช้บางส่วน เพื่อให้ต้นข้าวของเกษตรกรที่ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ไม่ขาดน้ำหรือยืนต้นตาย ทั้งนี้ หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ  ขอย้ำให้เกษตรกรให้ความร่วมมือในการงดทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ไม่ขาดแคลน
*********************************
หมายเหตุ –  ฤดูการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี                                                                                                                                                                                                                             17  กุมภาพันธ์  2557