วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน


ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร.สายด่วน 1460 / E- mail : wmsc.1460@gmail.com / http://water.rid.go.th/wmsc
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
กรมชลฯระบายน้ำเพิ่ม รักษาระบบนิเวศน์ หลังน้ำเค็มรุกถึงสำแล กระทบต่อน้ำดิบผลิตประปา
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ในปีนี้ส่งผลกระทบเร็วกว่าปกติ ค่าความเค็มที่วัดได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา จนกระทบต่อการสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง ทำให้กรมชลประทานและการประปานครหลวงต้องร่วมมือกันในการวางแนวทางแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมาเจือจาง
ทั้งนี้ โดยปกติในหลายๆปีที่ผ่านมา การทำนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงมีน้ำส่วนเกินที่เหลือจากการทำนาปรังไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปสมทบกับน้ำที่ระบายลงมาเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ทำให้มีน้ำเพียงพอที่จะไล่น้ำเค็มให้เจือจางลงไปได้ แต่เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งปีนี้ พื้นที่เขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังเกินแผนไปแล้วกว่า 2 เท่า ทำให้เกษตกรใช้น้ำที่อยู่ในระบบอย่างเต็มศักยภาพ จนไม่เหลือน้ำส่วนเกินที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าทุกปี จนกระทบต่อการสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตคนเมืองหลวงกว่า 10 ล้านคน
กรมชลประทาน และการประปานครหลวง จึงได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เป็นระยะๆ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเจือจางน้ำเค็มให้ได้มากที่สุด พร้อมกับผันน้ำส่วนหนึ่งจากแม่น้ำแม่กลองที่มีปริมาณมากเข้าคลองจรเข้สามพัน และคลองท่าสาร-บางปลา ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นจะเปิดรับน้ำเข้าคลองพระยาบันลือ และระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท เพื่อให้น้ำไหลไปเจือจางน้ำเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล ของการประปานครหลวงต่อไป 
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกเสร็จแล้ว ขอให้งดการทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมอย่างไม่ขาดแคลน อีกทั้ง ยังเป็นการแบ่งปันน้ำให้คนที่อยู่ด้านท้ายน้ำได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างทั่วถึงกันด้วย
*********************************
18  กุมภาพันธ์ 2557

ไม่มีความคิดเห็น: