วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน 11 มีนาคม 2557

logorid

ข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โทร.สายด่วน 1460 / E- mail : wmsc.1460@gmail.com / http://water.rid.go.th/wmsc

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา : หน้าแล้งเหลืออีกกว่าเดือนเศษ แต่การใช้น้ำเต็มแผนที่กำหนดแล้ว

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ล่าสุด(11 มี.ค. 57) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 11,389 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 4,693 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 26 ของปริมาณน้ำทั้งหมด

สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,972 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,172 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,682 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,832 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 336 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 293 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 399 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 396 ล้านลูกบาศก์เมตร

*** ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(11 มี.ค. 57) มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,318 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 100 ของแผนฯ หรือใช้น้ำเต็มแผนที่ตั้งไว้แล้ว ในขณะที่ระยะเวลาของฤดูแล้งยังคงเหลืออีกกว่าเดือนครึ่ง ทำให้ต้องดึงน้ำที่สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้านี้มาใช้ จึงขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจังด้วย

ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 6 มี.ค. 57) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 9.09 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 179 ของแผนทั้งหมด(แผนกำหนดไว้ 5.09 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 8.79 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 185 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 4.74 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.30 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.35 ล้านไร่)

สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้(11 มี.ค. 57) วัดได้ตามสถานีต่างๆได้แก่ สถานีวัดน้ำกรมชลประทาน สามเสน 6.34 กรัมต่อลิตร สถานีวัดน้ำท่าน้ำนนท์ 3.45 กรัมต่อลิตร และสถานีวัดน้ำสำแล(โรงสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง) 0.30 กรัมต่อลิตร(เกินค่าปกติเล็กน้อย) ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีปริมาณน้ำมากลงมาเจือจางความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง

*********************************

หมายเหตุ – 1. ฤดูการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี

2. ค่าความเค็มผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร และการเกษตร ไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร

11 มีนาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น: